ศิลปะ คือศาสตร์แขนงหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจเบิกบาน ด้วยการปลดปล่อยจินตนาการวาดลวดลายแต่งเติมสีสันลงบนกระดาษสีขาวอันว่างเปล่า จนเกิดภาพวาดที่สวยงาม งานศิลปะจึงถือว่ามีส่วนช่วยสร้างสมาธิได้เป็นอย่างดี แต่หากลองศึกษาลึกลงไปจะพบว่า ศิลปะสามารถบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ได้ เช่น การใช้ศิลปะเพื่อปรับพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก เป็นต้น ในทางการแพทย์เรียกศาสตร์นี้ว่า ศิลปะบำบัด (Art Therapy) ปัจจุบันมีการนำศาสตร์ดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาคนไข้มากขึ้น

ประโยชน์อย่างครบถ้านของศิลปะบำบัด

ด้านความคิด เกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดที่มีหลายมิติ สามารถคิดได้กล้างไกล ไร้กรอบและขอบเขต ประกอบด้วย

  • ความคิดริเริ่ม ช่วยให้มีความคิดแปลกใหม่ เกิดการนำความรู้เดิมมาดัดแปลงให้เกิดเป็นสิ่งใหม่
  • ความคล่องแคล่ว ช่วยให้เกิดความคิดที่รวดเร็ว นำมาซึ่งการพูดและการกระทำที่คล่องแคล่ว
  • ความยืดหยุ่น ช่วยให้เกิดความคิดหลากหลายมุมมอง ไม่ยึดติด
  • ความละเอียดลออ ช่วยให้มีความพิถีพิถันในการทำสิ่งต่างๆ ช่างสังเกตในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

ด้านอารมณ์และจิตใจ ช่วยแก้ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ โดยเราสามารถระบายความคับข้องใจหรือระบายความรู้สึกผ่านงานศิลปะประเภทต่างๆ ได้ ทำให้จิตใจผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด รวมถึงสามารถยับยั้งหรือบำบัดพฤติกรรมก้าวร้าวได้อีกด้วย

ด้านทักษะทางสังคม ศิลปะบำบัดเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะทางสังคม ทำให้เกิดการเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัจจุบันมีการใช้งานศิลปะมาแก้ไขปัญหาการปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากขึ้น

ด้านร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อมีการพัฒนาและการเคลื่อนไหวที่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาของกล้ามเนื้อ โดยสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขั้นตอนและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้นจึงไม่เพียงเหมาะสำหรับเด็กแต่ยังเหมาะสำหรับผู้ป่ายโรคพาร์กินสันด้วย โดยใช้การประยุกต์การแสดงเข้ากับเสียงเพลง ซึ่งจะช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อกระตุ้นการเคลื่อนไหว ฟื้นฟูทักษะควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของผู้ป่วย

ด้านสมอง งานศิลปะไม่เพียงสร้างสุนทรีภาพทางอารมณ์เท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้เพื่อลดความรุนแรงของโรคทางสมองอย่างอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันอีกด้วย เนื่องจากสมองถูกกระตุ้นให้ใช้อยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีการหลั่งสารโดพามีน (dopamine) ออกมา ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูศักยภาพทางสมองของผู้ป่วย และในคนทั่วไปศิลปะยังช่วยให้สมองมีการจดจำที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยศิลปะบำบัดมักถูกมองว่าใช้กับผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวทำให้ศิลปะถูกนำมาใช้ประโยชน์น้อยกว่าความเป็นจริงมาก ในขณะที่ต่างประเทศให้ความสนใจและนำเอาศิลปะบำบัดมาใช้อย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งบุคคลทั่วไปก็นิยมนำมาใช้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในการระบายออกทางอารมณ์

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเครียด และแสดงออกอารมณ์ทางลบด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวดังเช่นที่เราพบเห็นตามสื่อต่างๆ การหยิบเอาศิลปะบำบัดมาใช้จะช่วยลดทอนความรุนแรงของสภาพจิตใจและสังคมได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครเดือดร้อน งานศิลปะจึงเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่หากนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องจะดีต่อทั้งนุขภาพกายและสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย

 

ขอบคุณข้อมูล  นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

           

       

 

acls
acls